ถวายชัยมงคล ม.ราชภัฏนครสวรรค์ จัดพิธีถวายชัยมงคล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  และวันอนุรักษ์มรดกไทย 2567  

         ถวายชัยมงคล  ม.ราชภัฏนครสวรรค์ จัดพิธีถวายชัยมงคล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  และวันอนุรักษ์มรดกไทย 2567

         วันที่ 1 เมษายน 2567 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ โดยสำนักศิลปะและวัฒนธรรม จัดพิธีถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติและถวายชัยมงคล เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปีพุทธศักราช 2567 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไชยรัตน์ ปราณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ประธานในพิธี เปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพ ถวายราชสักการะ และกล่าวคำถวายชัยมงคลเฉลิมพระเกียรติ เบื้องหน้าพระฉายาลักาษณ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
        จากนั้นเป็นการแสดง "การบรรเลงดนตรีวงมหาดุริยางค์ไทย บทเพลงพระราชนิพนธ์ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” โดยผู้บรรเลงและขับร้องเพลงไทยมาจากนักเรียน และคุณครู ของโรงเรียนในจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมด้วยนักศึกษาสาขาวิชาดนตรีศึกษา และสาขาวิชาวิทยาการดนตรีและศิลปะการแสดง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มากกว่า 90 คน เพื่อรวมใจเป็นหนึ่ง ในการร่วมกันเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ​ศาสตราจารย์ พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี”

          พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน” นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร
////
ชาติชาย เกียรติพิริยะ/นครสวรรค์