องคมนตรีลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดนครนายก
วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2568 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคกลาง พร้อมด้วย พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายวัชระ หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเขื่อนขุนด่านปราการชล พร้อมรับฟังผลการดำเนินงานตลอดจนให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาต่อยอดด้านต่าง ๆ โดยเขื่อนขุนด่านปราการชล มีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 185,000 ไร่ เกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์กว่า 9,000 ครัวเรือน ช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังได้กว่า ร้อยละ 30–40 ต่อไร่ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงก่อนก่อสร้างเขื่อน นอกจากนี้ยังช่วยลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย แก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวในพื้นที่ รวมทั้งสามารถผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกล้ำพื้นที่เกษตรและรักษาสมดุลนิเวศ น้ำใต้ดินมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีระดับน้ำลึกจากผิวดินทั่วไปประมาณ 1-1.5 เมตร นอกจากด้านเกษตรแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในด้านพลังงาน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 10 เมกกะวัตต์ จำนวน 28 ล้านหน่วยต่อปี
ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครนายก พระบรมชนกชลพัฒน์ (พิพิธภัณฑ์เขื่อนขุนด่านปราการชล) เพื่อรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมและติดตามผลการดำเนินงาน ต่อมาเดินทางไปยังสวนศิริมงคล อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ของนางพยุง ศิริมงคล เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จาก โครงการระบบท่อส่งน้ำฝั่งซ้ายเขื่อนขุนด่านปราการชล – คลองสีเสียด รับฟังบรรยายสรุปภาพรวมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการในการสนับสนุนการต่อยอดและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี โดยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ตำบลหนองแสงกว่า 3,000 ไร่ แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งให้สามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี
ในอดีตพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายกประสบปัญหาอุทกภัย ปัญหาน้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่น้ำจืดและพื้นที่เกษตรกรรมรวมถึงปัญหาดินเปรี้ยวในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมของประชาชน เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้พิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าด่าน ที่บ้านท่าด่าน ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก
“...โครงการเขื่อนเก็บกักน้ำคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก ซึ่งสร้าง ณ บริเวณจุดที่ต่ำจากน้ำตกเหวนรกลงมานั้น เป็นโครงการที่มีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้ราษฎรมีน้ำใช้เพาะปลูกในฤดูแล้ง ได้เป็นจำนวนนับแสน ๆ ไร่แล้ว เขื่อนแห่งนี้ก็ยังสามารถเก็บกักน้ำอุทกภัยของทุกปีไว้ได้หมด จะไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมพื้นที่เกษตรในบริเวณจังหวัดนครนายกอีกต่อไป และขณะเดียวกัน ในฤดูแล้ง น้ำจากเขื่อนก็จะถูกระบายเพื่อชะล้างดินเปรี้ยวในหลายอำเภอของนครนายกอีกด้วย...” เขื่อนขุนด่านปราการชล มีชื่อเดิมว่า เขื่อนคลองท่าด่าน ตั้งอยู่ที่ตำบลหินตั้ง อำเภอเมืองนครนายก จังหวัดนครนายก เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2542 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเขื่อนคลองท่าด่าน ว่า “เขื่อนขุนด่านปราการชล” โดยเป็นเขื่อนคอนกรีตบดอัด (RCC DAM) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูง 93 เมตร ยาว 2,594 เมตร ระดับสันเขื่อน +112 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่ผิวอ่าง 3,087 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ 224 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 เป็นต้นมา
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.