องคมนตรี ติดตามผลสัมฤทธิ์โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่จังหวัดขอนแก่น ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง
วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม 2568 เวลาประมาณ 09.30 น. พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายวัชระ หัศภาค ที่ปรึกษาด้านการพัฒนา สำนักงาน กปร. พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางไปยังโครงการแก้มลิงหนองแสงพร้อมอาคารประกอบอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ จากนั้น พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรและกลุ่มผู้ใช้น้ำ พร้อมทั้งเยี่ยมชมผลผลิตและสินค้าทางการเกษตร โอกาสนี้ องคมนตรีมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ทำนาและกลุ่มผู้ใช้น้ำ และปล่อยพันธุ์ปลาเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนสูงให้แก่ราษฎรในพื้นที่
สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ ณ จังหวัดขอนแก่น สรุปความว่า “…ลำน้ำชีในฤดูน้ำหลาก น้ำท่วมพื้นที่สองฝั่งซึ่งเป็นห้วย หนอง บึง และพื้นที่สาธารณะมาก เมื่อถึงเวลาน้ำลด น้ำที่ท่วมพื้นที่ดังกล่าวก็ลดตามไปด้วย ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำตามเดิม ให้พิจารณาหาวิธีเก็บกักน้ำให้อยู่ในพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก…” และต่อมาได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม สรุปความว่า “…ให้สำรวจพื้นที่อ่างเก็บน้ำรอบ ๆ จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่อำเภอมัญจาคีรีขึ้นมาทางเหนือ เพื่อพิจารณาขุดลอกอ่างเก็บน้ำเสริมคันดินกั้นน้ำให้สูง เพื่อเก็บปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุดในฤดูฝน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำนาปรังได้ รวมทั้งช่วยป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองขอนแก่นในฤดูที่มีฝนตกหนัก นอกจากนั้นจะช่วยให้สามารถนำน้ำมาใช้ในโครงการเกษตรน้ำฝนตามแนวทฤษฎีใหม่ได้...” โดยสำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน ได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริในการดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำพื้นที่ 120 ไร่ ความลึกเฉลี่ย 3.50 เมตร เพื่อเพิ่มปริมาณความจุเป็น 830,000 ลูกบาศก์เมตร (จากเดิม 500,000 ลูกบาศก์เมตร) ก่อสร้างคันทำนบดิน อาคารบังคับน้ำ และท่อลอดถนน โดยดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 และแล้วเสร็จในปีเดียวกัน ทำให้ราษฎรหมู่บ้านท่าสวรรค์ ตำบลท่าศาลา อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และหมู่บ้านใกล้เคียง จำนวน 500 ครัวเรือน รวม 747 คน มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ และสามารถส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตรให้แก่ราษฎร จำนวน 500 ไร่ สำหรับการต่อยอดโครงการฯ กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านท่าสวรรค์ ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2566 สามารถเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ให้แก่ราษฎร จำนวน 150 ครัวเรือน รวม 500 คน มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคได้อย่างเพียงพอ และส่งน้ำสนับสนุนพื้นที่การเกษตร จำนวน 1,330 ไร่ รวมถึงขุดลอกแก้มลิงหนองแสงเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำให้เต็มศักยภาพ
ช่วงบ่าย องคมนตรีและคณะฯ เดินทางไปยังโครงการฝายวังจระเข้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและติดตามการดำเนินงานในพื้นที่ จากนั้น พบปะเยี่ยมเยียนราษฎรและกลุ่มผู้ใช้น้ำ โอกาสนี้ องคมนตรีมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ทำนาและกลุ่มผู้ใช้น้ำ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการฝายวังจระเข้ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ตามที่ราษฎรบ้านค้อ หมู่ที่ 10 ตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ขอพระราชทานโครงการขุดลอกลำห้วยและก่อสร้างฝายชะลอน้ำบริเวณฝายวังจระเข้ (เดิม) เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง โดยสำนักงาน กปร. และกรมชลประทาน ได้ร่วมกันดำเนินงานสนองพระราชดำริในการดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ลักษณะโครงการฯ มีระดับสันฝายสูง 3 เมตร ความยาวสันฝาย 47.20 เมตร และท่อลอดถนน พร้อมขุดลอกลำห้วย ความยาว 1,900 เมตร ปัจจุบันมีผลการดำเนินงาน คิดเป็นร้อยละ 65 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2568 สามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในลำห้วยประมาณ 55,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 200 ไร่ เป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและเลี้ยงสัตว์ให้แก่ราษฎรในเขตตำบลบ้านเหล่า อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 300 ครัวเรือน
สำหรับแนวทางการต่อยอดโครงการฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ให้แก่ราษฎร เสนอแผนการก่อสร้าง ปีงบประมาณ 2571 ประกอบด้วย 1) ก่อสร้างสถานีสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อลดต้นทุนค่าสูบน้ำของเกษตรกร และเพิ่มพื้นที่การส่งน้ำได้มากขึ้นเป็น 400 ไร่ (จากเดิม 200 ไร่ เกษตรกรสูบน้ำใช้เอง) 2) พิจารณาก่อสร้างฝายทดน้ำ พร้อมระบบกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถส่งน้ำได้ประมาณ 600 ไร่
กองประชาสัมพันธ์
สำนักงาน กปร.