สานฝันเด็กไทย คุยตรงกับ “นักบินอวกาศ” จาก ”เสินโจว 14” :ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย จัดกิจกรรม “หว่านเมล็ดแห่งฝัน สังสรรค์กับมนุษย์อวกาศ”
“ครั้งแรกในประเทศไทยที่เด็กไทยจะได้พูดคุยกับมนุษย์อวกาศโดยตรง” 1 พ.ย. 65 เวลา 13.30 น. สมาคมผู้ปกครองและครูสวนกุหลาบวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย จัดกิจกรรม “หว่านเมล็ดแห่งฝัน สังสรรค์กับมนุษย์อวกาศ” (Gathering in talk with Taikonauts, Sowing space dreams) โดยการการถ่ายทอดสัญญาณจากยานอวกาศ “เสินโจว14” มายังสถานที่จัดกิจกรรมในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้มีประสบการณ์การพูดคุยและซักถามปัญหาต่างๆกับมนุษย์อวกาศที่ปฏิบัติภารกิจอยู่บนยานอวกาศโดยตรง ทั้งนี้จะมีเยาวชนจากประเทศในกลุ่มอาเซียนอีก 9 ประเทศรับสัญญาณและร่วมกิจกรรมนี้พร้อมกันในประเทศของตนเอง สำหรับผู้แทนนักเรียนไทยในครั้งนี้ ชื่อ ด.ช.ศิวัชติณณ์ ศิวเวทกุล เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รหัสประจำตัว 59281 ได้สอบถามนักบินอวกาศเกี่ยวกับการรับประทานอาหารในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยภายหลังจบงาน ด.ช.ศิวัชติณณ์ เปิดเผยว่า รู้สึกตื่นเต้น และยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เป็นตัวแทนนักเรียนชั้นม.1 คนเดียว ที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จากทั้งหมด 13 ห้อง ถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิต ทั้งนี้ตนเองมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักบินอวกาศเช่นกัน
ด้าน นายสุรพล เดชะหรูวิจิตร นายกสมาคมผู้ปกครองและครู ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้รับการติดต่อจากสถานทูตฯจีน เพื่ออยากถ่ายทอดให้เด็กไทย ได้มีโอกาสได้รับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อวกาศของจีนที่มีความทันสมัย มียานอวกาศที่ปฎิบัติภารกิจแตกต่างกัน ซึ่งการถ่ายทอดสดจากสถานีอวกาศที่อยู่นอกโลก แบบสดๆ อาจมีปัญหาด้านสัญญาณบ้าง แต่ก็สร้างความประทับใจ ได้ความรู้สึกดีๆระหว่างคนไทย กับคนจีน ด้วย ปัจจุบันการศึกษาค้นคว้าความรู้ทางวิทยาศาสตร์อวกาศมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก การพัฒนานี้ในทางตรงทำให้มนุษย์ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดต่างๆในอดีต ผู้คนเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโลกได้สะดวกและรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์กว่าแต่ก่อนอันเป็นพื้นฐานทำให้เกิดการต่อยอดจนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ๆที่มนุษย์นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อความสะดวกแม่นยำในการขนส่ง การเดินทางและการใช้ประโยชน์ในการเตือนภัยเพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติจากธรรมชาติได้ทันท่วงที ทำให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลพื้นฐานให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับปรากฎการณ์ต่างๆทั้งบนโลก ระบบสุริยะ และจักรวาลของเรา ส่งผลให้เกิดการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ นำไปสู่ความเข้าใจ
เกี่ยวกับชีวภาคของโลก ในทางอ้อมการพัฒนาวิทยาศาสตร์อวกาศทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างประเทศ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจซึ่งกันและกัน หลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดอันจะนำไปสู่การเกิดภาวะสงครามซึ่งเป็นหายนะของมนุษยชาติบนโลกใบนี้
ประเทศจีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์อวกาศอย่างจริงจัง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ทุ่มเททั้งความมุ่งมั่นและงบประมาณมหาศาลในการดำเนินโครงการด้านอวกาศ จนสามารถก้าวทันประเทศมหาอำนาจอื่นได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำในด้านอวกาศของโลกภายในปี ค.ศ. 2049 ความสำเร็จของจีนในด้านอวกาศที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา เช่น ภารกิจเดินทางไปทั้งดวงจันทร์และดวงอังคาร โครงการการบินอวกาศพร้อมมนุษย์ โครงการดาวเทียมนำร่องเป๋ยโต่ว การปล่อยจรวดที่มีแรงยกตัวสูง และวิศวกรรมระบบการบินอวกาศของจีน ฯลฯ ไม่เพียงสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคาร แต่จีนยังมุ่งมั่นที่จะสร้างสถานีอวกาศเป็นของตนเองในชื่อ “สถานีอวกาศเทียนกง” ที่แปลว่า “พระราชวังบนสรวงสวรรค์” โดยวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การก่อสร้างและการควบคุมเครื่องมือขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในอวกาศ รวมถึงทดลองและพัฒนาความรู้ใหม่ๆบนอวกาศได้อย่างเต็มที่ เช่น การปลูกพืชบนอวกาศ การปรับตัวและใช้ชีวิตประจำวันในอวกาศเป็นเวลานาน ตลอดจนเพิ่มพูนเทคโนโลยีและประสบการณ์ให้กับการสำรวจห้วงอวกาศลึก (Deep Space) ของจีนในอนาคต นอกจากนี้ จีนยังคาดการณ์ว่าสถานีอวกาศแห่งนี้จะสร้างประโยชน์แก่การพัฒนาและการใช้ทรัพยากรอวกาศอย่างสันติผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยโครงการสถานีอวกาศใหม่แห่งนี้ จีนระบุว่าพร้อมเปิดรับความร่วมมือจากต่างชาติ ซึ่งหมายถึงการรับหน้าที่เป็นเจ้าบ้านทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ และในระยะยาวอาจมีการเปิดให้นักบินอวกาศชาติอื่นเดินทางเยือนสถานีอวกาศของจีนด้วย